ปุ่มรถลื่น หรือ เรียกเป็นทางการว่าระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว โดยทั่วไปรถรุ่นใหม่ป้ายแดงสมัยนี้ล้วนแต่ถูกติดตั้ง “ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว” มาให้เป็นฟังก์ชันมาตรฐานจากโรงงาน โดยระบบที่ว่านี้อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละผู้ผลิต เช่น Toyota จะใช้คำว่า VSC ที่ย่อมาจาก Vehicle Stability Control, Honda ใช้คำว่า VSA หรือ Vehicle Stability Control หรือกระทั่งรถยุโรปอย่าง Mercedes-Benz ก็เรียกระบบนี้ว่า ESP หรือ Electronic Stability Program เป็นต้น
ไม่ว่าระบบดังกล่าวจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร แต่ทุกระบบล้วนมีหลักการทำงานพื้นฐานเหมือนกันทั้งหมด คือ ช่วยป้องกันไม่ให้รถลื่นไถลออกนอกเส้นทาง โดยเฉพาะบนถนนเปียกที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการลื่นไถลได้มากกว่าถนนแห้ง และยังถือเป็นฟังก์ชันความปลอดภัยที่เซฟชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนมาแล้วนับไม่ถ้วน
“ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว” จะอาศัยการทำงานของเซ็นเซอร์จำนวนมากที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของตัวรถ เช่น Yaw Rate Sensor สำหรับตรวจจับการเอียงของตัวรถ, Wheel Speed Sensor จับการหมุนของล้อแต่ละข้าง, Steering Angle Sensor ตรวจจับองศาของพวงมาลัย และอื่นๆ
หากระบบตรวจพบว่ารถเริ่มเสียการทรงตัว ก็จะทำการสั่งลดความเร็วของล้อข้างใดข้างหนึ่งเพื่อแก้อาการของตัวรถ เช่น หากรถเริ่มมีอาการหน้าดื้อขณะเข้าโค้งซ้าย ระบบจะสั่งลดความเร็วของล้อหลังซ้ายด้วยเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเพื่อดึงรถกลับมาในเส้นทาง ซึ่งระหว่างนี้ผู้ขับขี่อาจไม่ทราบเลยว่าระบบได้มีการทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เว้นแต่จะสังเกตเห็นไฟสัญลักษณ์รูปรถลื่นไถลสีเหลืองกระพริบบนหน้าปัดในช่วงระหว่างที่ระบบกำลังทำงานเท่านั้น
ดังนั้น ทางที่ดีคุณไม่ควรไปยุ่งกับปุ่มปิดการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพโดยเด็ดขาด